โซเชียลมีเดียสำหรับเด็ก

เด็กกับสื่อสังคมบนโลกออนไลน์

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา “โซเชียลมีเดีย” ได้กลายเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีอิทธิพลมากในชีวิตของคนในสังคม ผู้คนส่วนใหญ่มีโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน ที่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันประเภทใช้สำหรับติดต่อสื่อสาร หรือการเชื่อมโยงติดต่อระหว่างกันไว้เท่าที่ตนเองจะเล่นเป็น หลัก ๆ ในเมืองไทยก็น่าจะเป็นไลน์ (Line) และเฟซบุ๊ก (Facebook) ที่เราจะเห็นวัยผู้ใหญ่ Gen-X หรือรุ่นพ่อรุ่นแม่มีบัญชีใช้กัน ส่วนทวิตเตอร์ (Twitter) หรืออินสตาแกรม (Instagram) ก็มีบ้างประปราย

ต้องบอกว่าวัยผู้ใหญ่ Gen-X เพิ่งจะรู้จักโซเชียลมีเดียได้ไม่นาน ขนาดเด็ก Gen-Y ปลาย ๆ ก็ยังทันข้าวของเครื่องใช้แบบสมัยเก่าอยู่บ้าง เด็กรุ่นนี้คือวัยทำงานในปัจจุบัน ซึ่งรู้จักโซเชียลมีเดียใช้เร็วสุดประมาณช่วงม.ต้น ส่วนเด็ก Gen-Z ไม่ต้องพูดถึง พวกเขาเติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งพ่อแม่ของพวกเขาหลายคนก็เป็นคนกลุ่ม Gen-Y ปลาย ๆ ด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นแล้ว จึงไม่น่าแปลกที่พวกเขาจะคุ้นเคยกับโซเชียลมีเดียกันแต่เล็กแต่น้อย และเข้าถึงมันได้ง่ายกว่าคน Gen สูงกว่า

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพ่อแม่ของเด็ก Gen-Z เลี้ยงลูกด้วยมือถือ เพราะเห็นว่าง่ายต่อการควบคุมเด็ก ให้เด็กจดจ่ออยู่กับโทรศัพท์หรือแท็บเล็ต ส่วนตัวพ่อแม่จะได้มีเวลาทำอย่างอื่น หรือจะพูดง่าย ๆ ก็คือใช้โทรศัพท์ล่อไม่ให้เด็กก่อกวนนั่นเอง ก็ไม่แปลกอีกเช่นกันที่เด็กรุ่นใหม่ ๆ จะยึดเอาโทรศัพท์และโซเชียลมีเดียเป็นทุกอย่างของชีวิต

แต่คำถามคือ เด็กกลุ่มนี้เหมาะที่จะเข้ามาอยู่ในสังคมบนโลกออนไลน์แล้วหรือยัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 13 ปี” เพราะขนาดในวัยผู้ใหญ่เอง การเสพติดโซเชียลมีเดียมากจนเกินไปยังมีผลเสียต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต แล้วนับประสาอะไรกับเด็กที่ยังไม่ประสีประสา ยังไม่มีวุฒิภาวะ และยังขาดกระบวนการคิดในหลาย ๆ ด้าน แล้วพ่อแม่ผู้ปกครองจะมั่นใจได้อย่างไร ว่าพวกเขาจะปลอดภัยจากการอยู่บนโลกออนไลน์จริง ๆ

โซเชียลมีเดียสำหรับเด็ก

ในโลกของสื่อชนิดนี้ก็มีทั้งเรื่องที่ดีและไม่ดี มีทั้งเรื่องจริงเรื่องไม่จริง และสื่อชนิดนี้ก็แพร่ข้อมูลเหล่านั้นออกไปได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่มีขีดจำกัดใด ๆ ทั้งสิ้น

ในเมื่อโซเชียลมีเดียธรรมดาไม่เหมาะสำหรับเด็ก ในหลายๆ แบรนด์จึงพัฒนา “โซเชียลมีเดียสำหรับเด็ก” ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น Messenger Kids, YouTube Kids ซึ่งจะเน้นการกรองเนื้อหาสำหรับเด็ก และให้ผู้ปกครองได้ควบคุมการใช้งานโซเชียลมีเดียของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด เพราะสังคมปัจจุบัน ไม่มีทางที่ผู้ปกครองจะห้ามเด็กใช้โซเชียลมีเดียได้แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะดีกว่าถ้าเด็กใช้งานแบบอยู่ในสายตา ซึ่งผู้ปกครองจำเป็นต้องรู้เท่าทันว่าทำไมถึงไม่ควรให้เด็กใช้โซเชียลมีเดียตามลำพัง

ล่าสุด เมื่อเดือนมีนาคม 2021 เฟซบุ๊กซึ่งเป็นเจ้าของปัจจุบันของอินสตาแกรม กำลังวางแผนที่จะทำ “อินสตาแกรมสำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 13 ปี” หนึ่งในทีมพัฒนาเคยได้ดูแล YouTube Kids มาแล้ว โดยที่ผ่านมา อินสตาแกรมกำหนดให้ผู้ใช้งานกรอกข้อมูลวันเดือนปีเกิด เพื่อคัดกรองเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี ไม่สามารถสร้างบัญชีส่วนตัวได้ ถ้าจะสร้างจะต้องระบุว่ามีผู้ปกครองหรือผู้ที่จัดการบัญชี ซึ่งเด็กอาจมีพ่อแม่สมัครให้ แต่ต้องไม่ลืมว่าเด็กที่พอจะรู้ความ อายุ 9-10 ปี พวกเขาก็ใช้โซเชียลมีเดียเป็นแล้ว และก็ฉลาดพอที่จะปลอมแปลงวันเดือนปีเกิดเองด้วย

ถึงกระนั้นเองจึงมีคำถามว่า จำเป็นหรือไม่ที่เด็กอายุต่ำกว่า 13 ปีต้องมีบัญชีโซเชียลมีเดียเป็นของตนเอง

มีการศึกษาจากมหาวิทยาแมริแลนด์ เรื่องผลกระทบของโซเชียลมีเดียต่อครอบครัว ระบุว่า การที่เฟซบุ๊กจะทำบัญชีสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี เท่ากับกำลังทำให้เด็กมีพฤติกรรมแบบเดียวกับผู้ใหญ่ที่ใช้แพลตฟอร์มนี้ ยกตัวอย่างเด็กที่ใช้ยูทูบคิดส์ ก็มีแนวโน้มจะเข้าไปใช้ยูทูบของผู้ใหญ่อยู่ดี

นอกจากนี้ อาการติดมือถือที่แพร่หลายในสังคม ไม่ว่าจะกับเด็ก วัยรุ่น รวมไปจนถึงผู้ใหญ่หลายต่อหลายคนก็ยังมีโทษที่ไม่ได้คำนึงถึง ไม่ว่าจะกรณี เมื่อผู้ใหญ่ติดโซเชียลมีเดีย การกลายเป็น โรคโนโมโฟเบีย ที่ขาดมือถือไม่ได้ และอาการที่บ่งชี้ว่า ติดมือถือจนสุขภาพพัง

ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าโซเชียลมีเดียจะไม่มีข้อดีอะไรเลย เพราะจริง ๆ แล้วโซเชียลมีเดียหลายแพลตฟอร์มสามารถเติมเต็มจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ให้กับเด็ก ให้ได้ความรู้ต่าง ๆ ทันข่าวสาร รวมถึงยุคที่การเรียนออนไลน์กำลังจะมีบทบาทอย่างเต็มที่ ซึ่งถ้าหากผู้ปกครองให้ความรู้ กำหนดกฎกติกา คัดกรองเนื้อหา และสอนให้เด็กใช้ให้เป็น และให้เด็กใช้ในทางที่เป็นประโยชน์และปลอดภัยที่สุด โซเชียลมีเดียก็ถือว่ามีประโยชน์ต่อเด็กไม่น้อย

ติดตามเพิ่มเติมได้ที่ jtgreendds.com

Releated